รูปแบบสิม ,วัสดุและโครงสร้าง
เป็นลักษณะสิมทึบขนาดเล็กผสมกึ่งสิมโปร่ง มีขนาดความยาว ๔ ช่วงเสา หลังคาตรงจั่วลดชั้นต่อปีกทั้ง ๔ ด้านแบบปั้นหยา ด้านหน้าเป็นมุขโล่ง ๒ ตอน ตอนแรกอยู่ใต้หลังคาปั้นหยาตอนที่ ๒ คลุมด้วยหลังคา ทรงเกย (กะเติ๊บ = ไท ผู้ไท) หน้าบันทั้ง ๒ ด้าน แกะสลักลวดลายบนเนื้อไม้ตัวโครงสร้างเช่นเดียวกับขื่อและอะเสภายใน ซึ่งนับว่าเป็นการออกแบบพิเศษของสิมหลังนี้ ลวดลายเป็นแบบพื้นบ้านไท-อีสานแท้ มีลักษณะลายก้านดกและลายขัดแบบลายจักสาน ช่างได้เจาะหน้าต่างใส่ลูกกรงกลึง (คล้ายเลียนลูกมะหวดขอม) และช่องเล็ก ๆ ๔ เหลี่ยมอีกข้างละ ๑ ช่อง องค์พระประธานปั้นปูนปางมารผจญขัดสมาธิราบ พุทธศิลป์สวยงามมาก ประดิษฐานองค์พระลูกเข้าไปในผนังประมาณ ๑ ใน ๓ และปั้นปูนด้านข้างเป็นกรอบรอบองค์พระ เป็นที่น่าสังเกตว่า ฐานชุกชี ได้รับการออกแบบพิเศษเฉพาะมีสัดส่วนเสริมสงองค์พระให้สง่างามมากทีเดียว ที่สำคัญสุดยอดของสิมพิเศษหลังนี้คือ ภาพจิตรกรรม ผนัง (ฮูปแต้ม) เบื้องหลังพระประธานอ้อมมาทางซ้าย ขวา จนถึงหน้าต่างทั้ง ๒ ด้าน เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านที่สูงส่งมากทีเดียว หน้าจะมีอิทธิพลช่างหลวงอยู่ด้วย) เนื้อหาของฮูปแต้มเป็นเรื่องเวสสันดรชาดก กล่าวว่า วาดโดยช่างแต้มชาวบ้านน้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ส่วนด้านนอกกวาดเป็นรูปราหูบนฝาผนังด้านเหนือ รูปนกบนผนังด้านใต้
ฐานก่ออิฐฉาบปูนความกว้างภายใน ๔.๑๐ ม. ความยาว (ไม่รวมมุขหน้าคาเกย) ๕.๖๐ ม. ความสูงพื้นดินถึงเชิงชาย ๒.๙๐ ม. ยาวทั้งสิ้นที่ฐานแอวขัน ๙.๙๐ ม. เสาที่รับหลังคาเกยสูงเพียง ๑.๙๐ ม. เสาก่อเป็น ๔ เหลี่ยม แต่งบัวหัวเสาเป็นปูนปั้นรูปกลีบบัว หลังคาทรงจัวสูง เดิมมุงแป้นเกล็ด มาเปลี่ยนเป็นสังกะสีภายหลัง เครื่องบนหลังคาเป็นโครงไม้ทั้งหมด ขนาดของขื่อและเสาแข็งแรงมากคือ ขนาด ๓๐ ซม. x ๓๐ ซม. คันทวยรูปนาคประดับเสาทรง ๔ เหลี่ยม ดูเหมาะเจาะแข็งแรงบึกบึน ส่วนเพิงหน้าเป็นของต่อเติมในภายหลัง แก้ไขจากบันไดขึ้น ๒ ทางเป็นขึ้นด้านหน้าทางเดียว และเสาเหลี่ยมรับเพิงทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้านั้นทำเลียนแบบเสาภายใน แต่มีขนาดเตี้ยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของสิมหลังนี้